โทร

074 - 200200

โทร

074 - 200200

อุบัติเหตุฉุกเฉิน

074 - 200201

ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ พบในเพศหญิงได้บ่อยกว่าเพศชาย

ฝ่ายการตลาด | 26 กรกฏาคม 2565 เวลา 14:25

ภาวะไทรอยด์เป็นพิษหรือต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ คือ โรคเกรฟส์ (Graves' disease) พบมากในช่วงอายุ 30-40 ปี พบในเพศหญิงได้บ่อยกว่าเพศชาย

ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ

สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของภาวะไทรอยด์เป็นพิษหรือต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ คือ โรคเกรฟส์ (Graves’ disease) พบมากในช่วงอายุ 30-40 ปี พบในเพศหญิงได้บ่อยกว่าเพศชาย 5-10 ต่อ 1 ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีต่อมไทรอยด์โตประมาณ 2-6 เท่าของขนาดปกติ ซึ่งเป็นมาไม่นานหรือพร้อมกับอาการไทรอยด์เป็นพิษ  แต่อาจจะมีขนาดปกติได้ประมาณร้อยละ 3 ของผู้ป่วย ผู้ป่วยที่อายุมากอาจพบต่อมไทรอยด์มีขนาดปกติได้ถึงร้อยละ 20 อาจมีอาการตาโปนได้ เป็นอาการทางตาที่จำเพาะ  พบได้ร้อยละ 20-40 ของผู้ป่วย  อาจเกิดก่อนหรือหลังอาการไทรอยด์เป็นพิษได้

 

การรักษาไทรอยด์เป็นพิษมี 3 อย่าง

คือ การใช้ยาต้านไทรอยด์  การกลืนน้ำแร่รังสีไอโอดีน131 และการผ่าตัดต่อมไทรอยด์

ยาที่ใช้ในการรักษาภาวะไทรอยด์เป็นพิษมีอะไรบ้าง

  1. ยาต้านไทรอยด์ หรือ ยาที่ยับยั้งการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ มียา 2 ตัวเท่านั้น ส่วนใหญ่จะให้ยา methimazole ส่วนยา propylthiouracil เหมาะสำหรับให้ในคนที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตร เพราะผ่านรกได้น้อยกว่า และต้องให้ยานาน 1.5 - 2 ปี เนื่องจากโรคนี้เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันตนเอง มีโอกาสหายหลังจากหยุดยาเพียงครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งกลับมาเป็นใหม่ ถ้าเป็นใหม่จะรักษาด้วยยาอีกครั้งหรือเปลี่ยนการรักษาเป็นกลืนน้ำแร่รังสีไอโอดีน131 หรือผ่าตัดก็ได้ ยาลดอาการมือสั่น ใจสั่น เมื่อผลฮอร์โมนไทรอยด์เป็นปกติแล้ว ก็หยุดยาได้
  2. การประสบความสำเร็จจากการใช้ยาต้องประกอบไปด้วย
  1. เมื่อฮอร์โมนไทรอยด์ลดลงแล้ว แพทย์จะปรับลดยาให้ จากยาหลายเม็ดสามารถลดยาเหลือ 1 เม็ดหรือครึ่งเม็ดได้
  2. ผลเลือดต้องดีตลอด
  3. ต่อมไทรอยด์ที่โต ต้องยุบ

ถ้ามีครบทั้งสามข้อ โอกาสหายสูง มีโอกาสเป็นซ้ำน้อย หลังการรักษาพบว่าประมาณ 3 ใน 4 ของผู้ที่กลับเป็นซ้ำจะเกิดขึ้นภายใน 3 เดือนแรกหลังจากหยุดยา ที่เหลือจะเกิดใน 6 เดือนต่อมา แต่ถ้าหลังจาก 5 ปีไปแล้วโอกาสกลับเป็นซ้ำจะน้อยมาก

 

การรักษาอีก 2 อย่างคืออะไร

  1. การกลืนน้ำแร่รังสีไอโอดีน131 มีโอกาสหายสูงเพราะต่อมไทรอยด์จะยุบด้วย  แต่อาจจะอาจจะใช้เวลานานและต้องกลืนหลายครั้ง และเมื่อต่อมไทรอยด์ยุบจนหมดแล้ว จะเกิดต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ ต้องกินฮอร์โมนไทรอยด์เสริมฮอร์โมนที่ต่ำ และจำเป็นต้องให้ไปตลอดชีวิต  ในกรณีที่ผู้ป่วยประจำเดือนขาดควรแนะนำให้ผู้ป่วยตรวจการตั้งครรภ์ก่อนกินน้ำแร่รังสี และเว้นการตั้งครรภ์ไปอย่างน้อย 6-12 เดือนหลังการรักษา  และหลีกเลี่ยงการเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมอย่างน้อย 3-4 เดือน
  2. การผ่าตัด เหมาะสำหรับกรณีที่ต่อมไทรอยด์ใหญ่มากๆ มีการกดเบียดหลอดลมทำให้หายใจลำบาก หรือในกรณีที่สงสัยเนื้องอกของต่อมไทรอยด์ร่วมด้วยอย่างไรก็ตามจะมีโอกาสกลับเป็นซ้ำโดยเฉลี่ยอย่างน้อยร้อยละ 5 ของผู้ป่วยและพบว่าร้อยละ 43 ของผู้ป่วยที่กลับเป็นซ้ำ จะเกิดหลังผ่าตัดไปแล้วนานกว่า 5 ปี และยังมีโอกาสเกิดต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยหลังผ่าตัดในช่วงปีแรกร้อยละ 12-80 หรือเกิดในระยะหลัง เพิ่มขึ้นร้อยละ 1-3 ต่อปี

ยังไม่มีการรักษาต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ชนิดใดที่ดีกว่าชนิดใด คงต้องให้ข้อมูลกับผู้ป่วยและให้ผู้ป่วยเลือกการรักษาเองจะดีที่สุด

 

สาระสุขภาพโดย : นพ.วรวงษ์  เสตสุบรรณ  อายุรแพทย์แผนกเบาหวานและไทยรอยด์